ข้อมูลเมื่อ : 08 มีนาคม 2561
326 เข้าชม
คำประกาศเกียรติคุณ
นายเทพศิริ สุขโสภา
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๖๐
นายเทพศิริ สุขโสภา ปัจจุบันอายุ ๗๔ ปี เกิดวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ที่ตำบลย่านยาว อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่าง และคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นายเทพศิริ สุขโสภา ได้เริ่มสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ด้วยการออกไปเล่าเรื่องให้เด็กๆ และผู้ใหญ่ตามหมู่บ้านในชนบทภาคเหนือฟัง โดยเลือกเรื่องจากนิทานไทย นิทานนานาชาติ และเรื่องที่แต่งเอง มีวิธีการเล่าเรื่องที่สนุกสนาน มีสีสันจนได้รับสมญาว่า “นักเล่าเรื่อง” (Story Teller) ในช่วงเวลาเดียวกันได้เขียนคอลัมน์ประจำเรื่องศิลปะสำหรับเด็ก ครู และเขียนนวนิยายลงในนิตยสารด้วย
ผลงานด้านวรรณกรรมของนายเทพศิริ สุขโสภา มีทั้งนวนิยาย สารคดี วรรณกรรมสำหรับเด็ก และบทกวี ลักษณะเด่น คือ สามารถฉายภาพชีวิตชนบทได้อย่างงดงามโดยใช้ศิลปะแขนงทัศนศิลป์ที่ถนัดเป็นฐานเพื่อการสร้างงานวรรณศิลป์ที่แตกต่างจากคนอื่นๆ เนื้อหาส่วนใหญ่เกิดจากประสบการณ์ในการเล่าเรื่องและการเดินทางของชีวิต ซึ่งมิได้มีความหมายเพียงการเดินทางจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง หากแต่เป็นการเดินทางภายในตัวตนของเขาเองร่วมด้วย
นายเทพศิริ สุขโสภา มีผลงานรวมเล่มแล้ว ๒๓ เล่ม เป็นนวนิยาย ๕ เล่ม เป็นหนังสือสำหรับเด็ก ๑๑ เล่ม และเป็นสารคดีอีก ๗ เล่ม วรรณกรรมที่มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่อง ได้แก่ วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง บึงหญ้า ป่าใหญ่ (๒๕๒๒) ซึ่งผสานแรงบันดาลใจจากงานทัศนศิลป์เข้ากับวรรณศิลป์ได้อย่างลงตัว ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทหนังสือสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น อายุ ๑๑-๑๔ ปี (บันเทิงคดี) จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ใน พ.ศ.๒๕๔๓ ได้รับการประกาศยกย่องให้เห็น ๑ ใน ๑๐๐ เล่ม หนังสือดี ๑๐๐ ชื่อเรื่องที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้รับการประกาศให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กนักเรียนชั้นมัธยม และได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย เรื่อง ของเล่นเดินทาง (๒๕๓๑) ซึ่งนำมิติใหม่ของการทำหนังสือเด็กมาใช้ คือการทำของเล่นจริงมาถ่ายภาพมิใช่การวาดภาพ ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทหนังสือสำหรับเด็กเริ่มหัดอ่าน ๓-๕ ปีจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ และนวนิยายเรื่อง ร่างพระร่วง (๒๕๔๘) งานประพันธ์เชิงพุทธปรัชญาร่วมสมัย ในวาระครบชาตกาล ๑๐๐ ปี พุทธทาสภิกขุ ได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี ๒๕๔๙
นอกจากนี้ นายเทพศิริ สุขโสภา ยังมีความสามารถทางศิลปะในสาขาจิตรกรรมและสาขาศิลปะการแสดง (ร่ายรำ) โดยนำเอาความสามารถจากทั้งสองสาขานั้นมาประกอบสร้างงานวรรณศิลป์ได้ด้วย กับทั้งสร้างสรรค์งานสารคดีให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะการเขียนรูป และยังเขียนภาพประกอบวรรณกรรมชั้นเยี่ยมไว้เป็นจำนวนมาก การทำงานศิลปะทุกแขนงของนายเทพศิริ สุขโสภา ล้วนมุ่งประโยชน์ต่อผู้คนในสังคม เขียนหนังสือเพื่อยกระดับอารมณ์และจิตใจมนุษย์ อุทิศบ้านให้เป็นห้องสมุดและแกลเลอรีจิตรกรรม ทำโครงการศิลปะชูใจเพื่อผ่อนคลายใจให้แพทย์และพยาบาล เป็นต้น
นายเทพศิริ สุขโสภา จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๖๐