ผลงานโดยคณาจารย์

พฤกษาสนทนา
ปี 2566

รายละเอียด

    พฤกษา หรือที่ให้ความหมายว่า ดอกไม้ คือหนึ่งในโครงสร้างสำคัญของระบบนิเวศทางธรรมชาติที่มีบทบาทสำคัญต่อมนุษยชาติมานานหลายพันปี ดอกไม้แต่ละชนิดล้วนมีความงามที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านรูปทรง สี และกลิ่น รวมไปถึงนัยยะทางความหมายที่แฝงอยู่ นิทรรศการ "พฤกษาสนทนา" ได้นำเสนอถึงบทสนทนาของดอกไม้ที่ถูกตีความและถ่ายทอด โดย 13 ศิลปิน ได้แก่ กัญญา เจริญศุภกุล, กิ่งกาญ สุนทรชื่น,ชัชวาลย์ วรรณโพธิ์, ญาณวิทย์ กุญแจทอง, ทีฆวุฒิ บุญวิจิตร, ทินกร กาษรสุวรรณ, ธรรมนูญ เรืองสวัสดิ์, ปริญญา ตันติสุข, ปาริชาติ ศุภพันธ์, พิษณุ ศุภนิมิตร, ฤทัยรัตน์ คำศรีจันทร์, วิชญ มุกดามณี และอำนาจ คงวารี

    บทบาทสำคัญของดอกไม้นอกจากการทำหน้าที่รักษาสมดุลทางธรรมชาติแล้ว ดอกไม้ยังถูกเชื่อมโยงไปกับอารยธรรม อาหาร ศิลปะและวัฒนธรรมที่หลากหลาย เมื่อกล่าวถึงดอกไม้ในทางศิลปะนั้น มักจะถูกพบเห็นบ่อยครั้งในผลงานสร้างสรรค์ ทั้งการถูกจัดให้อยู่ในองค์ประกอบหลัก หรือแม้แต่ในองค์ประกอบเสริมของภาพก็ตาม อย่างเช่นภาพที่โด่งดังและมีชื่อเสียงระดับโลกในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก อาทิ "Sunflowers" ซีรีสภาพวาดดอกทานตะวันที่ถ่ายทอดโดยศิลปินชาวตัทซ์ผู้ทรงอิทธิพล วินเซนต์ แวน โก๊ะ ซึ่งภาพดอกทานตะวันในชุดนี้ถือเป็นภาพจำและบ่งบอกความเป็นตัวตนของแวน โก๊:ผ่านเรื่องราวในชีวิตและความสัมพันธ์ของเขาได้ตรงไปตรงมา ทำให้ผลงานในชุดนี้ยังคงเป็นที่เลื่องชื่อจนถึงปัจจุบัน "Water Lilies" ซีรีส์ชุดดอกบัว โดย โกลด มอแน ศิลปินคนสำคัญแห่งยุคอิมเพรสชันนิสม์ (Impression ism) ผู้ถ่ายทอดความงามของทิวทัศน์ผ่านการใช้สีที่สะท้อนความงามทางธรรมชาติจากการเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลง ธรรมชาติของเขาจึงเกิดขึ้นจากความประทับใจในสิ่งที่เห็นและถ่ายทอดเป็นความงามในรูปแบบเฉพาะตัว ความแตกต่างของวิธีการและประสบการณ์ จึงนำมาสู่ความเป็นเอกลักษณ์ที่พิเศษภายในผลงานของศิลปิน

    ภาพของดอกไม้นั้นกลายเป็นภาพสะท้อนของความงาม และในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวตนของศิลปินด้วย การสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินแต่ละท่าน จึงเปรียบเสมือนการถ่ายทอดอัตลักษณ์ไม่ใช่แค่เพียงนำเสนอภาพของดอกไม้เท่านั้น แต่เป็นการสะท้อนถึงเรื่องราวประสบการณ์ และความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ภายใน แฝงไปด้วยสัญญะทางความหมายไว้มากมาย ในนิทรรศการ "พฤกษาสนทนา" ผู้ชมจะได้สัมผัสกับสุนทรียะผ่านบทสนทนาของดอกไม้ที่ถูกตีความและนำเสนอโดย 13 ศิลปินเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม - 17 กันยายน 2566 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล (ถนนบรมราชชนนี)

ศุภชา เสน่ห์งามเจริญ